หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่งของร่างกาย คือ ทำงานทั้งกลางวัน กลางคืน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่พัก ทุก ๆ วัน หัวใจจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจมี 9 ประการ ใครมีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องรีบขนขวาย แสวงหาความรู้และวิธีการที่จะลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นลงให้ได้ดังนี้
1. ไขมันในเลือดสูง
2. อ้วน 3. เบาหวาน
4. ความดันโลหิตสูง
5. สูบบุหรี่
6. ขาดการออกกำลังกาย
7. กินผักผลไม้น้อย
8. ความเครียด
9. ดื่มแอลกอฮอล์
เรื่องไขมันในเลือดสูง อย่าคิดว่ามาจากการกินอาหารอย่างเดียว เพราะสาเหตุหลักมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ บางคนระวังอาหารมาก แต่ไขมันก็ยังสูงได้ อีกประการหนึ่ง ความสำคัญของไขมันในเลือด ไม่ใช่อยู่ที่ค่าที่สูงอย่างเดียว เพราะไขมันมีทั้งตัวดี และตัวร้าย จึงต้องอาศัยการตรวจเลือด แยกแยะออกมา
หากไขมันสูงแล้ว การกินยาลดไขมัน อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป เพราะยาลดไขมัน อาจมีผลทำลายตับ มีผลต่อการทำลายกล้ามเนื้อ และยาลดไขมันไประงับการทำงานของโคเอนไซม์คิวเทน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเต้นของหัวใจ และต่อการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย แล้วถ้าไขมันสูงจะทำอย่างไร แนะนำให้ออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้มากขึ้น ถ้าตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ต้องทานผักและผลไม้วันละ 5 มื้อ ทานธัญพืชวันละ 7 มื้อ หากทำไม่ได้หรือทำแล้วก็ยังสูงอยู่ ก็ต้องใช้สารอาหารที่ช่วยลดไขมันตัวไม่ดี เช่น ไนอะซิน, เลซิติน, โทโคไทรอีนอล, ไซทรินอล, ไฟเบอร์, กระเทียม, ชาเขียว, ฯลฯ สารอาหารเหล่านี้ ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาลดไขมัน หมอเองไขมันสูงมาตั้งแต่อายุยี่สิบ เป็นพันธุกรรม ตอนนี้ค่าปกติดี ไม่ได้ใช้ยาเลย ผักผลไม้ก็ไม่ได้ทานบ่อย ไม่สะดวก ใช้แต่สารอาหารที่ว่ามาข้างต้น แล้วก็ทำคีเลชั่นเป็นครั้งคราว ออกกำลังกายก็อาศัยการซิทอัพ และวิดพื้นทุกเช้าตอนตื่นนอน ไม่มีเวลาไปหรอก ฟิตเนส อะไรนั้น ถ้าจะออกกำลังกาย อย่าหาข้ออ้างกับตัวเองเลย เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรสักอย่าง
เรื่องอ้วนลงพุง ก็เป็นปัญหาหลักแทบทุกคน เมื่ออายุขึ้นเลขสี่ ปัจจุบันเรารู้มากขึ้นว่า ไขมันส่วนเกิน ไม่ได้เป็นแค่ความอ้วนที่เห็นภายนอกอย่างเดียว แต่มันมีชีวิต มันผลิตสารอันตรายบางอย่างออกมา เป็นโมเลกุลที่ก่อการอักเสบ ทำให้เราตายเร็ว เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต หยุดหายใจตอนกลางคืน มะเร็ง และโรคความเสื่อมอื่น ๆ ดังนั้น อย่าให้ลงพุงเกินเหตุ อย่าให้น้ำหนักเกินมากไป
ส่วนการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คนเรามักประมาทละเลย ทั้งบุหรี่ และแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่เข้าไปทำลายหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบและหลอดเลือดตีบตัน หักดิบเลิกได้ดีที่สุด หลายปีมานี้ผมมีคนไข้มาทำคีเลชั่นนับเป็นพันคน เส้นเลือดหัวใจตีบตันไปแล้ว บางคนกำลังจะไปทำบายพาส ตั้งแต่เริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน มีเพียงสองคนที่ต้องไปบายพาส ทั้งสองคนเหมือนกันคือ ไม่ยอมเลิกบุหรี่ และสูบจัดทั้งคู่ คนหนึ่งทำคีเลชั่นไปได้ 5 ครั้ง วันหนึ่งไปทานเลี้ยง ทานอาหารเข้าไปมาก แล้วก็สูบบุหรี่ตาม ก็เกิด heart attack กะทันหันเข้าไปบายพาสทันที อีกคนหนึ่งทำจนครบ 30 ครั้ง หยุดไปประมาณเกือบปี กลับมาอีกทีทำบายพาสไปแล้ว เพราะ heart attack แกสูบบุหรี่มวนต่อมวน วันละหลายซอง เลิกไม่ได้ ผ่าตัดไปแล้วก็รีบกลับมาปรึกษา เพราะอาการเหนื่อยยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นถ้ายังอยากเห็นลูกรับปริญญา หรือยังอยากเห็นหลานรับปริญญา ก็หักดิบเสียเถอะ เลิกให้หมดเลย มิฉะนั้นโอกาสตายก่อนสูงมาก วันรับปริญญาลูกหรือหลาน เขาคงเสียใจถ้าเราไม่อยู่ฉลองความสำเร็จเขา
อาการที่ต้องระวัง
โรคหัวใจที่เป็นกันมากที่สุด ก็คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักจะมีอาการเจ็บหน้าอก อาการเจ็บอกเจ็บใจ ที่เกิดจากหัวใจ จะมีอาการแน่น ๆ หายใจไม่ออก ใจสั่น เหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย บางครั้งเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก อาจแผ่กระจายไปที่แขน ลำคอ ขากรรไกร กราม อ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
การป้องกันและรักษาแบบบูรณาการ
ถ้าหากว่าเป็นโรคหัวใจ หรือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ การไปหาหมอ ให้ตรวจอย่างละเอียด แล้วก็รับยามากิน แล้วคิดว่าดูแลดีแล้ว น่าจะผิด เพราะโรคนี้ต้องพึ่งตนเอง มากกว่าพึ่งยา ไม่ใช่ว่ายาไม่จำเป็น โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยงพวกเบาหวานและความดันโลหิตสูง ต้องใช้ยาคุมโรคให้ดี แต่เนื่องจากปัจจุบันเราพบว่าสาเหตุหลักของการที่หัวใจขาดเลือด 70% เกิดจากการอักเสบในหลอดเลือด โดยเฉพาะตรงตำแหน่งคราบอุดตันชนิดไม่เสถียร คือเป็นคราบไขมันชนิดบาง ๆ ที่แตกหรือฉีกง่าย เมื่อเกิดการแตกปริขึ้นบริเวณนั้น ก็จะก่อตัวเกิดเป็นลิ่มเลือด เข้าไปอุดตันหลอดเลือดอย่างเฉียบพลันทันที ส่วนที่เกิดจากการอุดตันแบบตีบเนื่องจากผนังหลอดเลือดหนาตัวจนเลือดเดินไม่ได้ มีเพียง 22% เท่านั้น ดังนั้น การลดการอักเสบในหลอดเลือด จึงเป็นหัวใจหลักของการรักษาแบบบูรณาการ เช่น การออกกำลังกาย เปลี่ยนแปลงอาหาร เลิกบุหรี่ เลิกแอลกอฮอล์ ใช้สารต้านอนุมูลอิสระ ลดโลหะหนักในเลือดและหลอดเลือด โดยการทำคีเลชั่น ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน คือ ลดความเครียด พักผ่อนบ้าง มองโลกแง่บวก ฝึกสมาธิ แผ่เมตตา ให้อภัยผู้คน เข้าใจชีวิต รักษาสมดุลของอารมณ์ให้ดี ถ้ารักษาใจให้ดี ก็จะไม่เจ็บใจ ถ้าไม่เจ็บใจ ก็จะไม่เป็นโรคหัวใจ
น.พ. ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต
Source: absolutehealth.co.th